จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สมาคม

ส่วนที่ 2 สมาคม
    มาตรา 78 การก่อตั้งสมาคมเพื่อกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะต่อเนื่องร่วมกันและ
มิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันต้องมีข้อบังคับและจดทะเบียนตาม
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้    มาตรา 79 ข้อบังคับของสมาคมอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
    (1) ชื่อสมาคม
    (2) วัตถุประสงค์ของสมาคม
    (3) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และที่ตั้งสำนักงานสาขาทั้งปวง
    (4) วิธีรับสมาชิก และการขาดจากสมาชิกภาพ
    (5) อัตราค่าบำรุง
    (6) ข้อกำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการของสมาคม ได้แก่ จำนวนกรรมการ การตั้ง
กรรมการ วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ
และการประชุมของคณะกรรมการ
    (7) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการสมาคม การบัญชี และทรัพย์สินของสมาคม
    (8) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมใหญ่
    มาตรา 80 สมาคมต้องใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า "สมาคม" ประกอบกับชื่อของสมาคม 
    มาตรา 81 การขอจดทะเบียนสมาคมนั้น ให้ผู้จะเป็นสมาชิกของสมาคมจำนวน
ไม่น้อยกว่าสามคน ร่วมกันยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่สำนักงาน
ใหญ่ของสมาคมจะตั้งขึ้น พร้อมกับแนบข้อบังคับของสมาคม รายชื่อ ที่อยู่ และอาชีพ
ของผู้จะเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่าสิบคน และรายชื่อ ที่อยู่และอาชีพของผู้จะเป็น
กรรมการของสมาคมมากับคำขอด้วย 
    มาตรา 82   เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอจดทะเบียนพร้อมทั้งข้อบังคับแล้วเห็นว่า
คำขอนั้นถูกต้องตามมาตรา 81 และข้อบังคับถูกต้องตามมาตรา79 และวัตถุประสงค์
ของสมาคมไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่เป็นภยันตรายต่อ
ความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐและรายการซึ่งจดแจ้งในคำขอหรือ
ข้อบังคับสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคม และผู้จะเป็นกรรมการของสมาคมนั้น
มีฐานะและความประพฤติเหมาะสมในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม ให้
นายทะเบียนรับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่สมาคมนั้น และ
ประกาศการจัดตั้งสมาคมในราชกิจจานุเบกษา
    ถ้านายทะเบียนเห็นว่าคำขอหรือข้อบังคับไม่ถูกต้องตามมาตรา 81 หรือมาตรา 79
หรือรายการซึ่งจดแจ้งในคำขอหรือข้อบังคับไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคม
หรือผู้จะเป็นกรรมการของสมาคมมีฐานะหรือความประพฤติไม่เหมาะสมในการดำเนิน
การตามวัตถุประสงค์ของสมาคม ให้มีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำของจดทะเบียนแก้ไขหรือ
เปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง เมื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงถูกต้องแล้วให้รับจดทะเบียน และ
ออกใบสำคัญแสดงการให้แก่สมาคมนั้น
    ถ้านายทะเบียนเห็นว่าไม่อาจรับจดทะเบียนได้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของสมาคม
ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุข
ของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ หรือผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนไม่แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลง
ให้ถูกต้องภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของนายทะเบียน ให้นายทะเบียนมี
คำสั่งไม่รับจดทะเบียนและแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลที่ไม่รับจดทะเบียนไปยังผู้ยื่น
คำขอจดทะเบียนโดยมิชักช้า
    ผู้ยื่นคำของจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนนั้นต่อรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงมหาดไทย โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวัน นับแต่
วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งไม่รับการจดทะเบียน
    ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์ และแจ้งคำวินิจฉัยให้ผู้อุทธรณ์
ทราบภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่นายทะเบียนได้รับหนังสืออุทธรณ์คำวินิจฉัยของ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นที่สุด 
    มาตรา 83 สมาคมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล 
    มาตรา 84 การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสมาคมจะกระทำได้ก็แต่โดยมติของที่
ประชุมใหญ่ และสมาคมต้องนำข้อบังคับที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมไปจดทะเบียนต่อนาย
ทะเบียนแห่งท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้ลง
มติและให้นำความในมาตรา 82 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อนายทะเบียนได้จดทะเบียน
แล้วให้มีผลใช้บังคับได้ 
    มาตรา 85 การแต่งตั้งกรรมการของสมาคมขึ้นใหม่ทั้งชุด หรือการเปลี่ยนแปลง
กรรมการของสมาคม ให้กระทำตามข้อบังคับของสมาคม และสมาคมต้องนำไปจด
ทะเบียนต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ภายใน
สามสิบวันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคม
    ถ้านายทะเบียนเห็นว่ากรรมการของสมาคมตามวรรคหนึ่งผู้ใด มีฐานะหรือความ
ประพฤติไม่เหมาะสมในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมนายทะเบียนจะ
ไม่รับจดทะเบียนกรรมการของสมาคมผู้นั้นก็ได้ ในกรณีที่นายทะเบียนไม่รับจด
ทะเบียนกรรมการของสมาคม นายทะเบียนต้องแจ้งเหตุผลที่ไม่รับจดทะเบียนให้
สมาคมทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนและให้นำความใน
มาตรา 82 วรรคสี่และวรรคห้ามาใช้บังคับโดยอนุโลม
    ในระหว่างที่ยังไม่มีการจดทะเบียนกรรมการของสมาคมชุดใหม่ ถ้าข้อบังคับของ
สมาคมมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้กรรมการของสมาคมชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่
กรรมการของสมาคมต่อไป จนกว่าจะได้มีการจดทะเบียนกรรมการของสมาคมชุดใหม่ 
    มาตรา 86   คณะกรรมการของสมาคมเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคมตามกฎหมาย
และข้อบังคับ ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่ 
    มาตรา 87 คณะกรรมการของสมาคมเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับ
บุคคลภายนอก 
    มาตรา 88 บรรดากิจการที่คณะกรรมการของสมาคมได้กระทำไป แม้จะปรากฏใน
ภายหลังว่ามีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการตั้ง หรือคุณสมบัติของกรรมการของสมาคม
กิจการนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ 
    มาตรา 89 สมาชิกของสมาคมมีสิทธิที่จะตรวจตรากิจการและทรัพย์สินของสมาคม
ในระหว่างเวลาทำการของสมาคมได้ 
    มาตรา 90 สมาชิกของสมาคมต้องชำระค่าบำรุงเต็มจำนวนในวันที่สมัครเข้าเป็น
สมาชิก หรือในวันเริ่มต้นของระยะเวลาชำระค่าบำรุงแล้วแต่กรณี เว้นแต่ข้อบังคับ
ของสมาคมจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น 
    มาตรา 91 สมาชิกของสมาคมจะลาออกจากสมาคมเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่ข้อบังคับของ
สมาคมจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น 
    มาตรา 92   สมาชิกแต่ละคนมีความรับผิดชอบในหนี้ของสมาคมไม่เกินจำนวนค่า
บำรุงที่สมาชิกนั้นค้างชำระอยู่ 
    มาตรา 93 คณะกรรมการของสมาคมต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญอย่างน้อย
ปีละครั้ง 
    มาตรา 94 คณะกรรมการของสมาคมจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็สุดแต่จะเห็น
สมควร
    สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดหรือสมาชิกจำนวน
ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ จะ
ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการของสมาคมให้ประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้ ในหนังสือนั้น
ต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด
    เมื่อคณะกรรมการของสมาคมได้รับหนังสือร้องขอ ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญตาม
วรรคสอง ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยจัดให้มีการประชุม
ขึ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ
    ถ้าคณะกรรมการของสมาคมไม่เรียกประชุมภายในระยะเวลาตามวรรคสาม สมาชิก
ที่เป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมหรือสมาชิกอื่นรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนสมาชิก
ที่กำหนดตามวรรคสองจะเรียกประชุมเองก็ได้ 
    มาตรา 95 ในการเรียกประชุมใหญ่ คณะกรรมการของสมาคมต้องส่งหนังสือนัด
ประชุมไปยังสมาชิกทุกคน ซึ่งมีชื่อในทะเบียนของสมาคมก่อนวันนัดประชุมไม่น้อย
กว่าเจ็ดวันหรือลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลายใน
ท้องที่ฉบับหนึ่งก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก็ได้
    การเรียกประชุมใหญ่ต้องระบุสถานที่ วัน เวลา และระเบียบวาระการประชุมและ
จัดส่งรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องตามควรไปพร้อมกันด้วยสำหรับการเรียก
ประชุมใหญ่โดยการพิมพ์โฆษณา รายละเอียดและเอกสารดังกล่าวต้องจัดไว้และพร้อม
ที่จะมอบให้แก่สมาชิกที่ร้องขอ ณ สถานที่ที่ผู้เรียกประชุมกำหนด 
    มาตรา 96   การประชุมใหญ่ของสมาคมต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม   เว้นแต่ข้อบังคับของสมาคมจะ
กำหนดองค์ประชุมไว้เป็นอย่างอื่น
    ในการประชุมใหญ่ครั้งใด ถ้าไม่ได้องค์ประชุมตามที่กำหนดไว้ และการประชุมใหญ่
นั้นได้เรียกตามคำร้องขอของสมาชิกก็ให้งดการประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่ที่
สมาชิกมิได้เป็นผู้ร้องขอ ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายในสิบสี่วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรกการประชุม
ครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจำต้องครบองค์ประชุม 
    มาตรา 97   มติของที่ประชุม ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณเว้นแต่กรณีที่ข้อ
บังคับของสมาคมกำหนดเสียงข้างมากไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ
    สมาชิกคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน   ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานใน
ที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด 
    มาตรา 98 สมาชิกจะมอบอำนาจให้สมาชิกผู้ใดมาเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน
แทนตนก็ได้ เว้นแต่ข้อบังคับของสมาชิกของสมาคมจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น 
    มาตรา 99 ในกรณีที่จะมีมติในเรื่องใด ถ้าส่วนได้เสียของกรรมการหรือสมาชิก
ของสมาคมผู้ใดขัดกับประโยชน์ได้เสียของสมาคมกรรมการหรือสมาชิกของสมาคม
ผู้นั้นจะออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้นไม่ได้ 
   มาตรา 100 ในการประชุมใหญ่ครั้งใด ถ้าได้มีการนัดประชุมหรือการลงมติโดยไม่
ปฏิบัติตาม หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของสมาคมหรือบทบัญญัติในส่วนนี้สมาชิกหรือพนักงาน
อัยการอาจร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติในการประชุมใหญ่ครั้งนั้นได้ แต่ต้องร้องขอต่อ
ศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ 
    มาตรา 101 สมาคมย่อมเลิกด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้
    (1) เมื่อมีเหตุตามที่กำหนดในข้อบังคับ
    (2) ถ้าสมาคมตั้งขึ้นไว้เฉพาะระยะเวลาใด เมื่อสิ้นระยะเวลานั้น
    (3) ถ้าสมาคมตั้งขึ้นเพื่อกระทำกิจการใด เมื่อกิจการนั้นสำเร็จแล้ว
    (4) เมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติให้เลิก
    (5) เมื่อสมาคมล้มละลาย
    (6) เมื่อนายทะเบียนถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียนตามมาตรา 102
    (7) เมื่อศาลสั่งให้เลิกตามมาตรา 104 
    มาตรา 102 ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียนได้ในกรณี
ดังต่อไปนี้
    (1) เมื่อปรากฏในภายหลังการจดทะเบียนว่า วัตถุประสงค์ของสมาคมขัดต่อกฎหมาย
หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน
หรือความมั่นคงของรัฐ และนายทะเบียนได้สั่งให้แก้ไขแล้วแต่สมาคมไม่ปฏิบัติตาม
ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด
    (2) เมื่อปรากฏว่าการดำเนินกิจการของสมาคมขัดต่อกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดีของ
ประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ
    (3) เมื่อสมาคมหยุดดำเนินกิจการติดต่อกันตั้งแต่สองปีขึ้นไป
    (4) เมื่อปรากฏว่าสมาคมให้หรือปล่อยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการของสมาคมเป็น
ผู้ดำเนินกิจการของสมาคม
    (5) เมื่อสมาคมมีสมาชิกเหลือน้อยกว่าสิบคน มาเป็นเวลาติดต่อกันกว่าสองปี 
    มาตรา 103 เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งให้ถอนชื่อสมาคมใดออกจากทะเบียนตามมาตรา
102 แล้ว ให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสมาคมนั้นโดยมิชักช้า และ
ประกาศการเลิกสมาคมในราชกิจจานุเบกษา
    กรรมการคนหนึ่งคนใดหรือสมาชิกของสมาคมจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนมีสิทธิ
อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
และให้นำความในมาตรา 82 วรรคห้ามาใช้บังคับโดยอนุโลม 
    มาตรา 104 เมื่อมีกรณีตามมาตรา 102 ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้นายทะเบียนถอน
ชื่อสมาคมออกจากทะเบียนได้ ถ้านายทะเบียนไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอ โดยไม่แจ้งเหตุผล
ให้ผู้ร้องขอทราบภายในเวลาอันสมควรหรือนายทะเบียนได้แจ้งเหตุผลให้ทราบแล้วแต่ผู้
ร้องขอไม่พอใจในเหตุผลดังกล่าว ผู้ร้องขอนั้นจะร้องขอต่อศาลให้สั่งเลิกสมาคมนั้นเสียก็ได้ 
    มาตรา 105 เมื่อสมาคมมีเหตุต้องเลิกตามมาตรา 101 (1)(2) (3) หรือ (4) ให้
คณะกรรมการของสมาคมที่อยู่ในตำแหน่งขณะมีการเลิกสมาคมแจ้งการเลิกสมาคม
ต่อนายทะเบียนภายในสิบสี่วัน นับแต่วันที่มีการเลิกสมาคม
    ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุดให้สมาคมล้มละลายตามมาตรา 101 (5)
หรือมีคำสั่งถึงที่สุดให้เลิกสมาคมตามมาตรา 104 ให้ศาลแจ้งคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ดังกล่าวให้นายทะเบียนทราบด้วย
    ให้นายทะเบียนประกาศการเลิกสมาคมในราชกิจจานุเบกษา 
    มาตรา 106 ในกรณีที่มีการเลิกสมาคม ให้มีการชำระบัญชีสมาคมและให้นำบทบัญญัติ
ในบรรพ 3 ลักษณะ 22 ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด
และบริษัทจำกัด มาใช้บังคับแก่การชำระบัญชีสมาคมโดยอนุโลม 
    มาตรา 107 เมื่อได้ชำระบัญชีแล้ว ถ้ามีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใดจะแบ่งให้แก่สมาชิก
ของสมาคมนั้นไม่ได้ ทรัพย์สินที่เหลือนั้นจะต้องโอนให้แก่สมาคมหรือมูลนิธิหรือนิติบุคคล
ที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการสาธารณกุศล ตามที่ได้ระบุชื่อไว้ในข้อบังคับของสมาคม
หรือถ้าข้อบังคับไม่ได้ระบุชื่อไว้ก็ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ แต่ถ้าข้อบังคับของ
สมาคมหรือที่ประชุมใหญ่มิได้ระบุผู้รับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไว้ หรือระบุไว้แต่ไม่สามารถ
ปฏิบัติได้ ให้ทรัพย์สินที่เหลืออยู่นั้นตกเป็นของแผ่นดิน 
    มาตรา 108 ผู้ใดประสงค์จะขอตรวจเอกสารเกี่ยวกับสมาคมที่นายทะเบียนเก็บ
รักษาไว้ หรือจะขอให้นายทะเบียนคัดสำเนาเอกสารดังกล่าวพร้อมด้วยคำรับรองว่า
ถูกต้อง ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน และเมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดใน
กฎกระทรวงแล้ว ให้นายทะเบียนปฏิบัติตามคำขอนั้น 
    มาตรา 109   ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามบทบัญญัติในส่วนนี้
และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนกับออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับ
    (1) การยื่นคำขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียน
    (2) ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การคัดสำเนาเอกสาร และค่า
ธรรมเนียมการขอให้นายทะเบียนดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับสมาคม รวมทั้งการยกเว้น
ค่าธรรมเนียมดังกล่าว
   (3) การดำเนินกิจการของสมาคมและการทะเบียนสมาคม
   (4) การอื่นใดเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติในส่วนนี้
    กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก