จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

การจดทะเบียนรับรองบุตร

หลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนรับรองบุตร
         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 บัญญัติว่า "บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็กในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็กถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็กให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน        ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
        เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้"
        ชายหญิงที่อยู่ด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส หากมีบุตรขึ้นมาบุตรย่อมเป็นบุตรโดยชอบกฎหมายของมารดาอยู่แล้ว ส่วนบิดานั้นกฎหมายถือว่าเป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น บิดาอาจจะไปจดทะเบียนรับเด็กว่าเป็นบุตรของตนโดยไม่ต้องไปจดทะเบียนสมรสกับมารดาของเด็กก็ได้ และเมื่อจดทะเบียนรับรองบุตรแล้วจะเกิดความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร โดยที่บิดาและมารดาไม่ต้องไปจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายก็ได้
        การที่บิดาไปแจ้งเกิดตามใบสูติบัตรหรือทะเบียนสำมะโนครัวว่าเด็กเป็นบุตรของบิดานั้นไม่ใช่เป็นการจดทะเบียนรับรองบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรานี้
        การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ชายที่เป็นบิดาจะต้องไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนการรับรองบุตรต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับคำร้องแล้ว หากบุตรและมารดาไม่ได้ไปอยู่ต่อหน้านายทะเบียน นายทะเบียนจะให้บุคคลทั้งสองทำหนังสือแสดงความยินยอมซึ่งเป็นแบบฟอร์มบันทึกอยู่ด้านหลังคำร้องดังกล่าว แต่ถ้าบุตรและมารดาคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนมิได้ไป ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต เพื่อให้ความยินยอมด้วยตนเอง นายทะเบียนจะมีหนังสือสอบถามไปยังบุตรหรือมารดาที่ไม่มาว่าจะให้ความยินยอมหรือไม่ ต่อมาเมื่อนายทะเบียนได้รับหนังสือแจ้งความยินยอมจากบุตรหรือมารดาแล้ว หรือบุคคลดังกล่าวได้มาให้ความยินยอมด้วยตนเองแล้วนายทะเบียนก็จะรับจดทะเบียนให้ แต่ถ้านายทะเบียนไม่ได้รับแจ้งความยินยอมภายในระยะเวลา 60 วัน ในกรณีที่บุตรหรือมารดาอยู่ในประเทศไทย หรือระยะเวลา 180 วัน
         ในกรณีที่อยู่นอกประเทศไทย นายทะเบียนก็จะแจ้งให้ชายผู้เป็นบิดาซึ่งผู้ขอจดทะเบียนทราบ ตามมาตรา 19 พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว  พ.ศ.2478

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก