จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

ผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า เจ้าของห้องเช่าล็อคกุญแจได้หรือไม่

ผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า เจ้าของห้องเช่าล็อคกุญแจได้หรือไม่
         เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมปัจจุบันนี้ ที่เจ้าของบ้านเช่าหรือห้องเช่าคิดว่าตนเองเป็นเจ้าของแล้วมีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่รู้ถึงข้อกฎหมายโดยเฉพาะในเรื่องผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า แล้วผู้ให้เช่าไปใส่กุญแจล็อคห้องเช่าไว้ ทำให้ผู้เช่าไม่สามารถเข้าไปในห้องเช่าหรือขนของออกจากห้องเช่าได้กรณีนี้ผู้ให้เช่าจะมีความผิดตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา โดยพิจารณาดังนี้ 1.กรณีคดีแพ่ง (ละเมิด)
         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 560 บัญญัติว่า "ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้    แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใดซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน"  หากผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า หรือชำระค่าเช่าไม่ตรงกำหนดเวลา ผู้ให้เช่าจะต้องบอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องผู้เช่าเรียกค่าเช่าแต่ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมออกจากห้องเช่าอีก ผู้ให้เช่าต้องฟ้องขับไล่ออกจากห้องเช่าตามกฎหมายต่อไป   เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดและผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้เช่าจำต้องออกไปจากที่เช่า เมื่อสัญญาเช่าเลิกต่อกันแล้วผู้เช่าไม่ยอมออกไปจากที่เช่า ผู้ให้เช่าชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาลเนื่องจากผู้เช่ากระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิผู้ให้เช่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 สิทธิของผู้ให้เช่าที่จะขับไล่ให้ผู้เช่าออกจากที่เช่าต้องกระทำโดยทางศาลให้ศาลเป็นผู้บังคับ ผู้ให้เช่าหามีสิทธิที่จะทำการบุกรุกเข้าไปปิดประตูใส่กุญแจห้ามมิให้กรรมการผู้จัดการของผู้เช่าเข้าไปภายในอาคารไม่ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในอาคารของโจทก์แล้วทำการปิดประตูใส่กุญแจห้ามมิให้กรรมการผู้จัดการของโจทก์เข้าไปภายใน อาคารจึงเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 (เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่  4207/2551)
2.กรณีคดีอาญา (บุกรุก)
         ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 บัญญัติว่า "ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"   กรณีนี้ต้องพิจารณาตามสัญญาเช่า ถ้าในสัญญาระบุให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิล็อคกุญแจประตูหรือปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้ามาในห้องเช่าได้ถ้าผู้เช่าผิดสัญญาหรือผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า กรณีเช่นนี้ ผู้เช่ามีสิทธิล็อคห้องได้ตามสัญญาเช่าไม่ผิดกฎหมายอาญาฐานบุกรุก เพราะไม่มีเจตนาบุกรุก(เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่  2609/2522 โจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากจำเลยซึ่งมีเงื่อนไขข้อตกลงระบุไว้ในสัญญาเช่าความว่า หากผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ายึดทรัพย์สินของผู้เช่าได้ และให้มีอำนาจใส่กุญแจอาคารวัตถุแห่งสัญญาเช่าได้ทันทีเมื่อโจทก์ร่วมผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่า และต่อมาได้นำเอาโซ่ล่าม ใส่กุญแจปิดทางเข้าออกตึกแถวพิพาทที่ให้เช่าดังนี้ การกระทำของจำเลยสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมกระทำผิดสัญญาเช่าดังกล่าวซึ่งให้อำนาจแก่จำเลยที่จะกระทำการตามข้อสัญญาและโดยความยินยอมของโจทก์ร่วมได้จำเลยกระทำไปเพราะเชื่อโดยสุจริตว่ามีสิทธิที่กระทำตามสัญญาได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาอันเป็นความผิดทางอาญาไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก)  
         แต่ถ้าในสัญญาเช่าไม่มีข้อความใดระบุว่าเมื่อผู้เช่าผิดสัญญาแล้วยินยอมให้ผู้ให้เช่าล็อคห้องได้ ผู้ให้เช่าไปล็อคห้องเช่าโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้ผู้เช่าเข้าห้องเช่าได้ กฎหมายถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของผู้เช่าแล้ว ถึงแม้ว่าผู้ให้เช่าจะเป็นเจ้าของห้องและยังไม่ได้เข้าไปในห้องเช่าเลยก็ตาม เป็นความผิดอาญาฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก