จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

บิดาจะต้องไปขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับรองบุตรเพราะเด็กไม่สามารถให้ความยินยอมได้

ตามหลักบิดาจะไปจดทะเบียนรับรองบุตรนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาเด็กด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน”

     แต่ที่มีปัญหาในกรณีที่เด็กเล็กอยู่ไม่สามารถให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนได้ เช่น อายุเพียง 2 หรือ 3 ปี เป็นต้น ตามพฤติการณ์เด็กไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ดังนั้น บิดาจะต้องไปร้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร เนื่องจากเด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล”
        เทียบเคียงกับคำพิพากษาฎีกาที่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5982/2551 ป.พ.พ.มาตรา 1548 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ส่วนวรรคสามและวรรคสี่บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัว การที่นายทะเบียนแจ้งแก่ผู้ร้องว่าไม่สามารถรับจดทะเบียนให้ได้โดยไม่แจ้งการขอจดทะเบียนของผู้ร้องไปยังผู้คัดค้านและเด็กก่อนตาม มาตรา 1548 วรรคสอง หรือตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 19 วรรคสอง เพราะปรากฏว่าขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนขอจดทะเบียนนั้น เด็กหญิง ป. อายุเพียง 3 ปีเศษ ยังไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้ จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ. จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 19 แล้วผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาให้ผู้ร้องจดทะเบียนเด็กหญิง ป.เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้

ดูข้อมูลได้ที่ http://www.lawyercluster.co.th/กฎหมายแพ่ง/กฎหมายครอบครัว/บิดาจะต้องไปขอให้ศาลรับรองบุตรเพราะเด็กไม่สามารถให้ความยินยอมได้.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก